โดยทั่วไปแล้วการต่อเติมบ้านคือเรื่องที่สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป การซื้อบ้านสำเร็จรูปมานั้นอาจมีบางส่วนที่ผู้อยู่อาศัยยังไม่ถูก ดังนั้นจึงต้องทำการต่อเติมบ้านเพื่อให้ได้บ้านในแบบที่ตั้งใจไว้ อาทิ เช่น การต่อเติมหลังคาลานจอดรถ สิ่งนี้อาจะต้องทำอย่างระมัดระวังบนพื้นฐานของข้อกำหนดกฏหมาย เพราะหากผิดพลาดอาจมีโทษถึงขั้นจำคุกเลยทีเดียว เจ้าของบ้านจึงไม่ควรละเลยหรือมองข้าม และศึกษาหาข้อมูลอย่างละเอียด
การต่อเติมบ้านคืออะไร ?
ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 (พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร) มาตรา 4 ได้นิยามคำว่า “ดัดแปลง” ให้หมายถึงการเปลี่ยนแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยายขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก หรือเนื้อที่โครงสร้างหรือส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่ก่อสร้างไปแล้วให้เปลี่ยนไปจากเดิม ส่วนการต่อเติมบ้านคือคำที่ใช้เรียกกันโดยทั่วไป ซึ่งมีความหมายเดียวกัน
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการต่อเติมบ้าน
หัวใจสำคัญคือ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร
เนื่องจาก พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร คือกฎหมายที่ใช้ควบคุมการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย มีความปลอดภัย มีการป้องกันอัคคีภัย และไม่รุกล้ำหรือรบกวนพื้นที่รอบข้าง การต่อเติมบ้านทุกหลังจึงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้อย่างเคร่งครัด
ไม่สามารถต่อเติมบ้านจนเต็มที่ดินของตัวเอง
เจ้าของบ้านไม่สามารถต่อเติมบ้านจนเต็มมิดทั้งพื้นที่ หรือเต็มปิดทึบด้านหน้า ด้านข้าง และ/หรือด้านหลังได้ เนื่องจากมีกฎหมายเกี่ยวกับระยะร่นและที่เว้นว่างควบคุมอยู่ นั่นคือ เจ้าของบ้านต้องมีระยะเว้นพื้นที่ว่างระหว่างหน้าตัวบ้านกับเขตที่ดินของตัวเอง
ต่อเติมบ้านอย่างไรให้ถูกกฎหมาย
ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน
ไม่ว่าจะต่อเติมบ้านชั้นเดียว หรือต่อเติมบ้าน 2 ชั้น หากครอบคลุมพื้นที่เกิน 5 ตารางเมตร หรือมีการเพิ่มหรือลดจำนวนเสาหรือคาน หรือมีการเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้วัสดุหรือขนาดที่ต่างไปจากเดิม หรือมีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้น้ำหนักบ้านเพิ่มขึ้น เจ้าของบ้านจะต้องทำเรื่องขออนุญาตกับเจ้าพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อน จึงจะดำเนินการได้
ต้องมีสถาปนิกและวิศวกรควบคุม
ในการขออนุญาตต่อเติมบ้านกับเจ้าพนักงาน เจ้าของบ้านก็ต้องมีแบบแปลนที่ได้รับการรับรองจากสถาปนิกผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้าง และในกรณีการเปลี่ยนแปลงวัสดุ เช่น การเปลี่ยนพื้นจากไม้เป็นกระเบื้อง ก็ต้องให้สถาปนิกหรือวิศวกรก่อสร้างช่วยคำนวณน้ำหนัก เพื่อสรุปว่าการต่อเติมบ้านจะเข้าข่ายต้องขออนุญาตก่อนหรือไม่
ต้องทำตามกฎหมายระยะร่นและที่เว้นว่าง
ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างหรือต่อเติมบ้าน ล้วนต้องอยู่ในการควบคุมของกฎหมายระยะร่นและที่เว้นว่าง ซึ่งสรุปได้ดังนี้
- ต้องมีระยะร่นระหว่างตัวอาคารกับจุดกึ่งกลางถนนอย่างน้อย 3 เมตร
- ต้องมีที่เว้นว่างระหว่างตัวอาคารกับเขตที่ดินด้านหน้าอย่างน้อย 3 เมตร ด้านหลังและด้านข้างอย่างน้อย 2 เมตร
- ต้องมีขอบเขตอาคารไม่เกิน 70% ของที่ดิน โดยนับจากชั้นที่กว้างที่สุด
ทั้งนี้ระยะร่นและที่เว้นว่างดังกล่าวขึ้นอยู่กับความกว้างถนน ประเภทและความสูงอาคาร ยกตัวอย่างการต่อเติมทาวน์โฮมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พื้นที่หลังทาวน์โฮมจะต้องมีที่ว่างทุกหลัง และในกรณีการต่อเติมบ้านด้านข้าง หากผนังด้านนั้นมีประตูหรือหน้าต่าง ก็จะต่อเติมจนชิดรั้วบ้านไม่ได้
ต้องได้รับการยินยอมจากเพื่อนบ้าน
เพราะการต่อเติมบ้าน ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ดังนั้น เจ้าของบ้านจำเป็นต้องพูดคุยขอความยินยอมจากเพื่อนบ้านก่อนการต่อเติมด้วย และในบางกรณี เช่น การต่อเติมผนังทึบชิดรั้วบ้านด้านข้าง ก็ต้องมีหนังสือยินยอมจากเพื่อนบ้านเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อป้องกันความขัดแย้งกันในอนาคต
ถ้าไม่ต่อเติมบ้านให้ถูกกฎหมาย
หากการต่อเติมบ้านเข้าข่ายต้องขออนุญาต แต่ไม่ขออนุญาต หรือขออนุญาตแล้ว แต่ไม่ทำตามที่ขออนุญาต เจ้าของบ้านจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง แต่ถ้าเจ้าของบ้านถูกร้องเรียน และพบว่าต่อเติมบ้านแบบผิดกฎหมาย จะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 30,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
สุดท้ายนี้จะเห็นว่า ทาวน์โฮมที่ต่อเติมครัวด้านหลังส่วนใหญ่จะผิดกฎหมาย (ไม่มีเว้นที่ว่างด้านหลัง 2 เมตร) แต่ตราบใดที่การต่อเติมนั้นยังไม่สร้างความเดือดร้อนกับผู้อื่น ก็อาจจะยังไม่เป็นปัญหา แต่ถ้ามีการร้องเรียนหรือเกิดอัคคีภัย แล้วส่วนที่ต่อเติมไปขัดขวางการหนีไฟหรือการทำงานของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง เจ้าของทาวน์โฮมก็จะผิดเต็ม ๆ ดังนั้น เริ่มต้นต่อเติมบ้านให้ถูกกฎหมายตั้งแต่แรกจะสบายใจกว่า
ขอบคุณข้อมูลจาก DDproperty
กฏหมายเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และเรานั้นสามารถพบเจอได้ทั่วไปในการดำเนินชีวิตประจำวัน การศึกษากฏหมายเป็นเรื่องที่สำคัญและไม่ควรมองข้าม สำหรับท่านใดที่ต้องการปรึกษาปัญหาทางด้านกฏหมายสามารถสอบถามข้อมูลมาได้ที่ Line@bnlaw และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารหรือสาระน่ารู้ต่างๆของเราได้ที่ Facebook B.N. Law