หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นหูกับคำว่าลิขสิทธิ์กันมานาน แต่ความหมายของลิขสิทธิ์จริง ๆ คืออะไร? แล้วลิขสิทธิ์นั้นสามารถใช้กับงานหรือสินค้าประเภทไหนได้บ้าง? ลิขสิทธิ์นั้นเปรียบเสมือนความคุ้มครองที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความสำคัญในการคุ้มครองไอเดียหรือความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละบุคคล เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดไอเดียกันเกิดขึ้นโดยใช้กฎหมายเป็นข้อคุ้มครอง
เอกสารที่ใช้ประกอบการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์
การยื่นจดแจ้งลิขสิทธิ์ หลังจากยื่นแล้วนายทะเบียนจะพิจารณาอนุมัติ ประมาณ 1 เดือน โดยมีข้อมูลต้องเตรียมดังนี้
- สำเนาบัตรประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง (กรณีเป็นบุคคลธรรมดา)
- สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคล ที่นายทะเบียนออกให้ไม่เกิน 6 เดือน ของเจ้าของลิขสิทธิ์ (กรณีเป็นนิติบุคคล)
- ผลงานหรือภาพถ่ายงานลิขสิทธิ์ จำนวน 1 ชุด
- หนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 30 บาท พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ (รับรองสำเนาถูกต้อง)
- หน่วยงานหรือองค์กรของรัฐบาลใช้สำเนาหนังสือแต่งตั้งผู้บริหารหน่วยงานหรือองค์กรฯ รวมทั้งสำเนาบัตรประชาชนของผู้ยื่นคำขอ (รับรองสำเนาถูกต้อง)
COPYRIGHT หรือลิขสิทธิ์คืออะไร?
คือ สิทธิคุ้มครองงานสร้างสรรทุกประเภท ซึ่งได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างขึ้นโดยไม่ต้องจดทะเบียน เป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่งซึ่งไม่มีรูปร่าง แต่สามารถถือเอาได้และกฎหมายให้ความคุ้มครองโดยให้เจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียว (exclusive rights) ที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานสร้างสรรค์ที่ได้ทำขึ้น โดยหลักแล้วกฎหมายลิขสิทธิ์จะคุ้มครองเฉพาะรูปแบบของการแสดงออกของความคิด (expression of ideas) ไม่คุ้มครองถึงตัวความคิดที่ยังไม่ได้ถ่ายทอดให้ปรากฎออกมา งานลิขสิทธิ์ไม่จำเป็นต้องมี “ความใหม่” (novelty) ขอเพียงให้เกิดจากความคิดริเริ่มของตนเอง (original)
กฎหมายลิขสิทธิ์นั้นมุ่งคุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์มิให้ผู้อื่นลอกเลียนแบบหรือทำซ้ำตลอดจนห้ามมิให้มีการใช้ประโยชน์จากรูปแบบของการแสดงออกทางความคิดของผู้สร้างสรรค์โดยไม่ได้รับอนุญาต ด้วยเหตุนี้อายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์จึงมีระยะยาวนานกว่าการคุ้มครองตัวความคิด ซึ่งเป็นเรื่องของการคุ้มครองการประดิษฐ์ภายใต้กฎหมายสิทธิบัตร ทั้งนี้การคุ้มครองดังกล่าวจะต้องไม่ขัดต่อประโยชน์ของสาธารณชนโดยรวมด้วย หากมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้แจ้งจำเป็นต้องพิสูจน์ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ นั้นเอง
9 ประเภทงานที่มีลิขสิทธิ์
- งานวรรณกรรม เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ คำปราศรัย โปรแกรมคอมพิวเตอร์
- งานนาฏกรรม เช่น งานที่เกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว รวมถึงการแสดงโดยวิธีใบ้ด้วย
- งานศิลปกรรม เช่น งานจิตรกรรม งานประติมากรรม ภาพพิมพ์ งานสถาปัตยกรรม ภาพถ่าย ภาพประกอบ หรืองานสร้างสรรค์รูปทรงสามมิติเกี่ยวกับภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์ งานศิลปะประยุกต์ ซึ่งรวมถึงภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าวด้วย
- งานดนตรีกรรม เช่น คำร้อง ทำนอง การเรียบเรียงเสียงประสานรวมถึงโน้ตเพลงที่แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว
- งานสิ่งบันทึกเสียง เช่น เทปเพลง แผ่นคอมแพ็คดิสก์ (ซีดี) ที่บันทึกข้อมูลเสียง ทั้งนี้ไม่รวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์ หรือเสียงประกอบโสตทัศนวัสดุอย่างอื่น
- งานโสตทัศนวัสดุ เช่น วีดีโอเทป วีซีดี ดีวีดี แผ่นเลเซอร์ดิสก์ที่บันทึกข้อมูลประกอบด้วยลำดับของภาพหรือภาพ และเสียงอันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีก
- งานภาพยนตร์ เช่น ภาพยนตร์ รวมทั้งเสียงประกอบของภาพยนตร์นั้นด้วย (ถ้ามี)
- งานแพร่เสียงแพร่ภาพ เช่น การกระจายเสียงวิทยุ การแพร่เสียง หรือภาพทางโทรทัศน์
- งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
การคุ้มครองลิขสิทธิ์
- บุคคลธรรมดา
ลิขสิทธิ์คุ้มครอง 50 ปีนับจากวันที่เสียชีวิต และมีอยู่ ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย ถ้าผู้สร้างสรรค์หรือผู้สร้างสรรค์ร่วมทุกคนถึงแก่ความตายก่อนที่ได้มีการโฆษณางานนั้น ให้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีอายุ 50 ปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก
- นิติบุคคล
ลิขสิทธิ์คุ้มครอง 50 ปีนับจากวันสร้างสรรค์
ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้น ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก
โดยเจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆต่องาน อันมีลิขสิทธิ์ของตนดังนี้
- ทำซ้ำหรือดัดแปลง
- เผยแพร่ต่อสาธารณชน
- ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึก
- ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น
- อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ์ตาม 1 2 หรือ3 โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดหรือไม่ก็ได้ที่ไม่เป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรม
หากต้องการจดแจ้งลิขสิทธิ์ของตัวเองทางออนไลน์สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://copyright.ipthailand.go.th/ หรือต้องการผู้ดำเนินการเรื่องลิขสิทธิ์ทางกฎหมาย ทั้งการจดแจ้งหรือปรึกษาเรื่องการโดนละเมิดลิขสิทธิ์ ติดต่อได้ที่ Line : @balanceniti และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารหรือสาระน่ารู้ต่าง ๆ ของเราได้ที่ Facebook : Balance Niti Law Firm
เครดิต: https://tgcthailand.com/copyright-notice-and-what-can-be-filed-for-copyright/