ปัญหาเพื่อนบ้านจากการใช้สิทธิเกินส่วน

ปัญหาเพื่อนบ้านจากการใช้สิทธิเกินส่วน

การใช้สิทธิเกินส่วนคืออะไร

ก่อนที่เราจะไปว่ากันเรื่องการใช้สิทธิเกินส่วน อันดับแรกต้องเข้าใจหลักกฎหมายว่าด้วยเรื่องละเมิดซึ่งเป็นพื้นฐานกันก่อน เรื่องละเมิดนี้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 ซึ่งบัญญัติไว้แบบนี้

ปัญหาเพื่อนบ้านจากการใช้สิทธิเกินส่วน

“มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแกชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี แก่อนามัยก็ดี แก่เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

ว่ากันง่าย ๆ ก็คือ การกระทำโดยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิ แล้วทำให้เกิดความเสียหายต่อคนอื่น ถือเป็นละเมิด ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ที่เสียหายนั้น

หลักการทั่วไปของการละเมิดคือการกระทำโดยไม่มีสิทธิ ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา 420 ข้างต้น แต่ว่ามีละเมิดอีกแบบหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 421 ซึ่งบัญญัติไว้แบบนี้

“มาตรา 421 การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย”

โดยปกติแล้ว การใช้สิทธิของตนเองเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถึงแม้บางกรณีจะทำให้คนอื่นเดือดร้อนบ้างก็ตาม แต่กรณีที่การใช้สิทธินั้นทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือนร้อนเกินควร เกินปกติ หรือเป็นการใช้สิทธิโดยจงใจทำให้ผู้อื่นเสียหาย ก็ถือว่าเป็นการละเมิดตามมาตรา 421 นี้ ซึ่งทางกฎหมายเรียกกันว่าใช้สิทธิเกินส่วน ก็เป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

ปัญหาเพื่อนบ้านจากการใช้สิทธิเกินส่วน

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับการใช้สิทธิเกินส่วน

  1. คำพิพากษาฎีกาที่ 780/2538 จำเลยเป็นเจ้าของรวมในที่ดินแปลงหนึ่งร่วมกับโจทก์ ถึงแม้จะมีสิทธิใช้ที่ดินในฐานะเจ้าของรวม แต่จำเลยปลูกบ้านคร่อมทางที่โจทก์ใช้เป็นปกติ ถือเป็นการใช้สิทธิในทางที่ขัดกับเจ้าของรวมคนอื่น แล้วยังเป็นการใช้สิทธิที่มีแต่จะเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นตามมาตรา 421 ด้วย
  2. คำพิพากษาฎีกาที่ 7271/2560 แม้การยื่นคำร้องต่าง ๆ ในชั้นขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 1 จะเป็นการใช้สิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่พฤติการณ์ของจำเลยถือว่าเป็นการประวิงเวลา และจำเลยที่ 1 ยังคงได้รับค่าเช่าจากอาคารพิพาทตลอดมาในระหว่างที่พิพาทกันในชั้นขายทอดตลาด แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาใช้สิทธิโดยสุจริต จึงเป็นการใช้สิทธิที่มีแต่จะให้เสียหายแก่โจทก์ ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 421
  3. คำพิพากษาฎีกาที่ 1992/2538 ผู้กระทำหรือผู้ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นอันเป็นละเมิดตามมาตรา 421 ต้องมีเจตนาหรือจงใจกลั่นแกล้งโดยมุ่งประสงค์ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นฝ่ายเดียวด้วย เมื่อโจทก์ติดตั้งป้ายโฆษณาบนดาดฟ้าตึกแถวของตนได้ จำเลยย่อมมีสิทธิติดตั้งป้ายโฆษณาบนดาดฟ้าตึกแถวที่ตนเช่าได้เช่นกัน โดยไม่ต้องคำนึงว่าฝ่ายใดติดตั้งก่อน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยจงใจกลั่นแกล้งโจทก์ แม้ป้ายโฆษณาของจำเลยจะอยู่ใกล้และบังป้ายโฆษณาของโจทก์บ้างก็ไม่เป็นละเมิด

สรุปหลักการสำคัญได้อย่างหนึ่งจากคำพิพากษาศาลฎีกาเหล่านี้ก็คือ การใช้สิทธิเกินส่วนนี้ผู้กระทำต้องมีเจตนาไม่สุจริตจงในสร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่นด้วย

ขอบคุณ DDproperty

กฏหมายเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และเรานั้นสามารถพบเจอได้ทั่วไปในการดำเนินชีวิตประจำวัน การศึกษากฏหมายเป็นเรื่องที่สำคัญและไม่ควรมองข้าม สำหรับท่านใดที่ต้องการปรึกษาปัญหาทางด้านกฏหมายสามารถสอบถามข้อมูลมาได้ที่ Line@bnlaw     และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารหรือสาระน่ารู้ต่างๆของเราได้ที่ Facebook B.N. Law