กฎหมายน่ารู้ ขนาดพื้นที่สำหรับอาคารสาธารณะ
นอกจากการสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อการอยู่อาศัยจะมีการจำแนกชนิดของสิ่งปลูกสร้างตามขนาดพื้นที่แล้ว อาคารสาธารณะต่าง ๆ เองก็มีการกำหนดเช่นเดียวกัน โดยจะมีการระบุจุดประสงค์ในการก่อสร้างของแต่ละอาคารตามที่กฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 อีกด้วย
อาคารพาณิชย์
อาคารที่ใช้เพื่อการพาณิชยกรรม การทำธุรกิจ หรือทำอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรน้อยกว่า 5 แรงม้า โดยห่างจากถนนหรือทางสาธารณะไม่เกิน 20 เมตร กำหนดให้มีช่องทางเดินในอาคารกว้าง 1.5 เมตรขึ้นไป
อาคารสาธารณะ
อาคารที่ใช้ในกิจกรรมทั่วไป กิจกรรมนันทนาการ การชุมนุม หรือการบริการต่าง ๆ ทั้งเพื่อการพาณิชยกรรม หรือไม่เชิงพาณิชยกรรมก็ได้ กำหนดให้มีช่องทางเดินในอาคารกว้าง 1.5 เมตรขึ้นไป
อาคารพิเศษ
อาคารที่มีความแข็งแรงและมั่นคงเป็นพิเศษโดยจะใช้เพื่อจุดประสงค์
- โรงมหรสพ อัฒจันทร์หอประชุม หอสมุด หอศิลปพิพิธภัณฑ์สถาน หรือศาสนสถาน
- อู่เรือ คานเรือ หรือท่าจอดเรือ สําหรับเรือขนาดใหญ่เกิน 100 ตันกรอส
- อาคารที่สูงเกิน 15 เมตร หรืออาคารที่มีโครงสร้างหลังคาสูงเกิน 10 เมตร
- อาคารที่เก็บวัสดุไวไฟ สารเคมี หรือวัสดุอันตรายต่าง ๆ
กำหนดให้มีช่องทางเดินในอาคารกว้าง 1.5 เมตรขึ้นไป และขนาดความสูงจากพื้นถึงเพดานมากกว่า 3.5 เมตรขึ้นไป
อาคารอยู่อาศัยรวม
อาคารที่มีการอยู่อาศัยของหลายครอบครัว โดยกำหนดให้มีช่องทางเดินกว้างอย่างน้อย 1 เมตรขึ้นไป
อาคารขนาดใหญ่
อาคารที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่เกิน 2,000 ตารางเมตร หรือมีความสูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป และมีขนาดพื้นที่เกิน 1,000 ตารางเมตร กำหนดให้มีช่องทางเดินกว้าง 1 เมตรขึ้นไปสำหรับการพักอาศัย และกว้างกว่า 1.5 เมตรสำหรับการพาณิชยกรรมหรือกิจกรรมอื่น ๆ สำหรับความสูงจากพื้นถึงเพดานให้กำหนดดังนี้
- ห้องพักส่วนบุคคล ห้องพักโรงแรม หอพัก หรือการพักอาศัยอื่น ๆ ต้องมีความสูงตั้งแต่ 2.6 เมตรขึ้นไป
- ห้อเงรียน ห้องสำนักงาน ห้องโถง ห้องอาหาร หรือโรงงาน ต้องมีความสูงตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป
- ห้องประชุม ห้องพักฟื้นคนไข้ ห้องขายสินค้า คลังสินค้า โรงครัว ตลาด หรืออื่น ๆ ต้องมีความสูงตั้งแต่ 3.5 เมตรขึ้นไป
- ห้องแถวหรือตึกแถวชั้นล่าง ต้องมีความสูงตั้งแต่ 3.5 เมตรขึ้นไป และชั้นอื่น ๆ ต้องมีความสูง 3 เมตร
แม้ว่าอาคารสาธารณะจะไม่ได้มีการระบุขนาดพื้นที่ในการระบุอาคารแต่ละชนิดอย่างชัดเจน แต่จะจำแนกด้วยองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น จุดประสงค์ในการใช้งาน เป็นต้น ถือว่าเป็นเกร็ดความรู้กฎหมายเล็ก ๆ ที่อาจจะมีประโยชน์ในอนาคต หากต้องการปรึกษาเรื่องเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกฎหมาย และเกร็ดความรู้เรื่องกฏหมายสามารถติดต่อได้ที่ Line : @balanceniti และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารหรือสาระน่ารู้ต่าง ๆ ของเราได้ที่ Facebook : Balance Niti Law Firm