เจ้าของกิจการหรือนายจ้างที่ต้องการจ้างชาวต่างชาติหรือแรงงานต่างด้าวเพื่อเข้ามาทำงานที่ประเทศไทยนั้น จะต้องทำตามขั้นตอนของกฏหมายตรวจคนเข้าเมืองอย่างถูกต้อง โดยนายจ้างจะต้องจัดเตรียมมเอกสารหลักฐานให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งขั้นตอนในการยื่นขออนุญาตนั้นจะมีความแตกต่างกัน
การขออนุญาตทำงานสำหรับแรงงานต่างด้าว
แรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฏหมายนั้น นายจ้างหรือบริษัทจะต้องทำตามข้อตกลงการนำเข้าแรงงานระหว่างประเทศไทยและประเทศเข้าร่วม ซึ่งได้แก่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา, ราชอาณาจักรกัมพูชา, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “MOU” หากไม่มีถือว่าเป็นการจ้างงานอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งข้อดีของการจ้างแรงงานต่างด้าว MOU นั้นก็คือจะเป็นแรงงานที่ได้ผ่านการอบรมการทำงาน และทดสอบการทำงานก่อนเริ่มงานที่ประเทศไทย
เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับนายจ้าง
- หนังสือรับรองบริษัท (กรณีนิติบุคคล)
- บัตรประชาชน
- ทะเบียนบ้าน
- แผนที่สถานที่ทำงาน
- รูปถ่ายสถานที่ทำงานและที่พัก
- กรณีกิจการก่อสร้างต้องมีสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง
- รายละเอียดความต้องการสวัสดิการต่าง ๆ
ขั้นตอนการทำ MOU
- ต้องยื่นเอกสารคำร้องขอนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาทำงานในประเทศ โดยส่งเอกสารคำร้องที่ได้ไปยังตัวแทนประเทศต้นทาง เพื่อดำเนินการคัดเลือกแรงงาน หลังจากนั้นตัวแทนประเทศต้นทางจัดทำบัญชีรายชื่อส่งกลับมา
- ยื่นบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าว ที่ได้รับมาจากเอเจนซี่ที่ต่างประเทศ
- แจ้งที่พักอาศัยแรงงานต่างด้าว ภายใน 24 ชั่วโมง
- แจ้งการเข้าทำงานของแรงงานต่างด้าว ภายใน 15 วัน
- ยื่นใบรับรองแพทย์ตรวจสุขภาพ ภายใน 30 วัน ณ สำนักงานจัดหางาน
การขออนุญาตทำงานสำหรับชาวต่างชาติ
ชาวต่างชาติที่ต้องการทำงานหรือทำธุรกิจในประเทศไทยนั้น จะต้องยื่นขอการเปลี่ยนประเภทการลงตราตามกฎหมายของราชอาณาจักรไทย ว่าด้วย ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยต้องยื่นขอการเปลี่ยนแปลงประเภทการลงตราเป็น Non-Immigrant Visa ”B” หรือวีซ่าประเภทธุรกิจ เมื่อเดินทางมาประเทศไทยสามารถยื่นขอหนังขออนุญาตทำงาน ณ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ภายในระยะเวลา 90 วัน
ขั้นตอนการขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ทำงานครั้งแรก
- ยื่นขอวีซ่าธุรกิจ (Visa Non-B) อายุ 90 วัน จากสถานกงสุลไทย ณ ประเทศนั้น ๆ หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในประเทศไทย
- เมื่อได้รับการอนุมัติ Visa Non-B ต้องยื่นขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ณ กรมการจัดหางาน ภายใน 30 วัน
- หลังจากได้รับอนุมัติใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ให้ต่ออายุหนังสือ Visa Non-B ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ภายใน 30 วัน
เอกสารสำหรับการชาวต่างชาติยื่นขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit)
- แบบคำขอ ต.ม.1 และรูปถ่ายขนาด 3×4 เซนติเมตร (1 นิ้วครึ่ง) จำนวน 3 รูป ( ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน ที่ไม่ใช่รูปจากคอมพิวเตอร์/โพลารอยด์ )
- หนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ชี้แจงความจำเป็นในการจ้างแรงงานต่างด้าว กรณีบริษัทผ่าน B.O.I หรือ กนอ. ให้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ชี้แจงเหตุผลที่ไม่ยื่นใช้สิทธิ์ B.O.I หรือ กนอ. พร้อมสำเนาบัตรส่งเสริม
- หนังสือรับรองการจ้างงาน หรือ สัญญาจ้าง
- สำเนาหลักฐานการศึกษาและหลักฐานการผ่านงาน
- ใบรับรองแพทย์
- สำเนาหนังสือเดินทางหรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวพร้อมฉบับจริง
- สำเนาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในกรณีที่เป็นการประกอบวิชาชีพที่กฏหมายกำหนดให้ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
- หนังสือมอบอำนาจจากนายจ้าง(กรณีนายจ้างเป็นคนต่างด้าว ใช้สำเนาใบอนุญาตทำงาน )ติดอากรแสตมป์ 10 บาท และสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
ซึ่งระยะเวลาที่อนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยนั้น มีระยะเวลา 3 เดือน / 6 เดือน / 1 ปี และสูงสุด 2 ปี โดยขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรมการจัดหางาน และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พิจารณาจากความจำเป็นหลาย ๆ ส่วน อย่างเช่น ประเภทงานที่ทำ ความจำเป็นในการทำงาน เป็นต้น
หากพิจารณาจากขั้นตอนเบื้องต้นจะทราบว่าไม่ยุ่งยากใด ๆ แต่การจัดเตรียมเอกสารนั้นต้องมีความละเอียดและถูกต้องตามข้อกำหนดฯ หากท่านไม่แน่ใจว่าเอกสารที่จัดเตรียมนั้นครบถ้วนและถูกต้องหรือไม่ สามารถปรึกษา Balance Niti สำหรับการดำเนินการขอหนังสืออนุญาตทำงาน หรือการดำเนินการเกี่ยวกับข้อกฎหมายต่าง ๆ ติดต่อได้ที่ Line : @balanceniti และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารหรือสาระน่ารู้ต่าง ๆ ของเราได้ที่ Facebook : Balance Niti Law Firm