สมัยนี้การทำธุรกิจหรือเปิดร้านออนไลน์ที่ทำได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว จนเกิดการละเมิดสิทธิด้วยการลอกเลียนแบบสินค้า หรือทำสินค้ามีความคล้ายคลึงกันอย่างมากออกมาขาย ซึ่งสามารถทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดได้ การปลอมแปลง ลอกเลียนแบบ หรือแอบอ้างเครื่องหมายการค้านั้นถือว่ามีความผิดต่อกฏหมายพ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายการค้า (Trade Mark) คืออะไร?
คือ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ ตราโลโก้ ยี่ห้อ ที่ใช้เพื่อแสดงว่ากับสินค้าหรือบริการของเจ้าของนั้นแตกต่างจากแบรนด์อื่น เช่น GUCCI MAMA PANASONIC เป็นต้น
นอกจากนั้นเครื่องหมายการค้ายังเป็นเครื่องมือสำคัญในการค้าระหว่างประเทศ เจ้าของเครื่องหมายการค้าจึงจำเป็นต้องจดทะเบียนขอรับความคุ้มครองสิทธิในประเทศต่าง ๆ ก่อนส่งออกสินค้าไปจำหน่าย เพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดเครื่องหมายการค้าในอนาคต
ลักษณะของเครื่องหมายที่ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
- เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 6 (1) คือ เครื่องหมายการค้านั้นต้องมีลักษณะที่ทำให้ผู้ใช้สินค้าเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น (มาตรา 7)
- เป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายตามมาตรา 6 (2) คือ ต้องไม่เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะที่ห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 8 เช่น ธงชาติ เครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยฯ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เป็นต้น
- ไม่เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าที่บุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้แล้วตามมาตรา 6 (3)
สิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้า
เจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิที่จะใช้เครื่องหมายการค้าที่ยังมิได้จดทะเบียน แต่จะฟ้องร้องเพื่อป้องกันการละเมิดเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนหรือเรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้
- เครื่องหมายการค้าที่ได้รับจดทะเบียนแล้ว เจ้าของเครื่องหมายการค้าเป็นผู้มีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้านั้น (มาตรา 44)
- สิทธิในการอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้าหรือโอนเครื่องหมายการค้าของตนให้บุคคลอื่น
- สิทธิในการคัดค้านหรือขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น (มาตรา 35, 60)
- สิทธิในการฟ้องร้องเพื่อป้องกันการละเมิดและเรียกค่าสินไหนทดแทน
- สิทธิในการต่ออายุเครื่องหมายการค้าที่ตนเองเป็นเจ้าของ
- การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีอายุความคุ้มครอง 10 ปี นับแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน และ สามารถขอต่ออายุการคุ้มครองได้ทุก ๆ 10 ปี โดยต้องยื่นคำขอต่ออายุภายใน 3 เดือน ก่อนวันสิ้นอายุ หรือภายใน 6 เดือน นับแต่วันสิ้นอายุการจดทะเบียน ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา
บทลงโทษสำหรับผู้ที่ละเมิดสิทธิเครื่องหมายการค้า
การละเมิดเครื่องหมายการค้าความผิดและมีโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่2) พ.ศ.2543 และแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 ได้แก่
1. การปลอมเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้ว ระวังโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 108)
2. การเลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้ว ระวังโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 109)
3. การนำหีบห่อหรือภาชนะที่แสดงเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วมาใช้สำหรับสินค้าของตนเองจนอาจเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นสินค้าที่ขึ้นทะเบียนเเล้ว ระวังโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 109/1)
4. การนำเข้ามาสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมปลอมตามมาตรา 108 เข้ามาจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ระวังโทษจำคุกไม่เกิ 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 110)
การขายสินค้าลอกเลียนแบบนั้นนอกจากผิดกฎหมายเสี่ยงต่อการฟ้องร้องจากเจ้าของแบรนด์หรือเจ้าของเครื่องหมายการค้าแล้ว ยังเสี่ยงต่อการฟ้องร้องจากผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าไปเพราะเข้าใจผิดอีกด้วย
หากกำลังโดนลอกเลียนแบบสินค้าหรือโดยแอบอ้างสินค้า ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับกฏหมายพ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าเพิ่มเติม หรือต้องการทนายที่ปรึกษากฏหมายเพื่อดำเนินการทางกฏหมายในการถูกละเมิดสิทธิ ติดต่อได้ที่ Line : @balanceniti และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารหรือสาระน่ารู้ต่าง ๆ ของเราได้ที่ Facebook : Balance Niti Law Firm