การหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะกับตัวเองว่ายากแล้ว การมีเพื่อนบ้านหรือข้างบ้านที่ดีเป็นสิ่งที่ยากกว่า การต่อเติมบ้านไม่ใช่เรื่องผิดซึ่งเจ้าของบ้านทุกคนมีสิทธิ์ทำได้ แต่เนื่องจากเขตพื้นที่ที่ติดกันอาจจะทำให้เกิดข้อพิพาทต่าง ๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะส่วนของหลังคาและรางน้ำที่สามารถก่อให้เกิดการกระทบกระทั้งเรื่องเขตพื้นที่ได้ง่าย หากสามารถพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาและปรับความเข้าใจกันได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี แต่หากไม่สามารถตกลงด้วยความประนีประนอมได้ การตัดสินด้วยกฎหมายจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ข้อกำหนดการต่อเติมหลังคาบ้านหรือรางน้ำ
การสร้างชายคาบ้านหรือรางระบายน้ำฝนสามารถสร้างให้อยู่สุดเขตของที่ดินของบ้านได้โดยไม่มีข้อกำหนดการเว้นระยะห่างจากที่ดินข้างเคียงอย่างชัดเจน ดังนั้นการต่อเติมชายคาของหลังคาบ้้านและรางน้ำของบ้านสามารถสร้างให้ยื่นออกมาจากตัวบ้านได้ตราบเท่าที่ยังอยู่ในเขตของที่ดินแต่ต้องไม่ล้ำไยังพื้นที่ของข้างบ้าน
แต่ในกรณีที่มีใบไม้หรือน้ำฝนได้ไหลไปตกยังที่ดินข้างเคียงหรือบ้านที่อยู่ติดกัน ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่บ้านข้างเคียง ตามกฎหมายบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไขได้
ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 2 ได้กำหนดให้ “อาคารที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงต้องมีการระบายนํ้าฝนออกจากอาคารที่เหมาะสมและเพียงพอที่จะไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้อื่นหรือเกิดนํ้าไหลนองไปยังที่ดินอื่นที่มีเขตติดต่อกับเขตที่ดินที่เป็นที่ตั้งของอาคารนั้น”
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1340 ได้กำหนดไว้ว่า “เจ้าของที่ดินแปลงต่ำกว่าสามารถเรียกร้องให้เจ้าของที่ดินสูงทำทางระบายน้ำและออกค่าใช้จ่ายให้หากได้รับความเสียหาย โดยเจ้าของที่ดินต้องไม่สร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆทำให้น้ำฝนตกลงไปยังทรัพย์สินของผู้อื่นที่อยู่ติดกัน”
ตามมาตรา 1341 กำหนดไว้ว่า “มิให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทำหลังคาหรือการปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งทำให้น้ำฝนตกลงยังทรัพย์สินซึ่งอยู่ติดต่อกัน”
หากตกลงกันด้วยการพูดคุยหรือประนีประนอมไม่ได้ เจ้าของบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถขอร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขได้ ดังนั้นการผูกมิตรและคำนึงถึงส่วนรวมจึงเป้นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ทุก ๆ บ้านอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข หากต้องการปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องร้องในกรณีอื่น ๆ สามารถติดต่อได้ที่ Line : @balanceniti และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารหรือสาระน่ารู้ต่าง ๆ ของเราได้ที่ Facebook : Balance Niti Law Firm