แม้ในชีวิตประจำวันการไปศาลอาจจะไม่ใช่เรื่องปกติ แต่เรื่องของกฎหมายนั้นไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าต้องเกี่ยวข้องในทุก ๆ การดำเนินชีวิต ดังนั้นการมีข้อมูลเกี่ยวกับระบบศาลของประเทศไทยไว้สักนิด อาจจะเป็นประโยชน์ทำให้เข้าใจหลักการทำงานของกฎหมายและศาลมากขึ้น เผื่อในอนาคตที่อาจจะต้องมีการดำเนินการฟ้องร้องหรือเกี่ยวข้องกับคดีความอื่น ๆ
ศาล แบ่งออกได้เป็น ๒ ระบบ
- ระบบศาลเดี่ยว เป็นระบบที่ให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง หรือคดีประเภทอื่น ๆ ระบบนี้เป็นระบบที่ใช้กันมากที่สุด ประเทศที่ใช้ระบบนี้ ได้แก่ กลุ่มประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา
- ระบบศาลคู่ เป็นระบบที่ให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทเฉพาะคดีแพ่งและคดีอาญาเท่านั้น ส่วนคดีปกครองแยกให้ศาลปกครองเป็นศาลที่มีอำนาจในการวินิจฉัยคดีดังกล่าว ข้อพิจารณาของระบบศาลคู่ คือ การแยกระบบของผู้พิพากษาและการแยกองค์กรศาลปกครองออกจากระบบศาลยุติธรรม ประเทศที่ใช้ระบบศาลคู่ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) เช่น ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน
ประเทศไทยนั้นใช้ “ระบบศาลคู่” โดยแบ่งศาลออกเป็น 4 ระบบ
1. ศาลยุติธรรม
ศาลที่มีอํานาจพิจารณาและพิพากษาคดีทั่วไปทั้งหลาย เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้ อยู่ในอํานาจของศาลอื่น ซึ่งนอกจากนั้นรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ในศาลฎีกาอีกด้วย เปรียบเสมือนช่องทางพิเศษสำหรับควบคุมดูแลนักการเมืองทั้งหลายไม่ให้กระทำความผิดอื่นใด
ศาลยุติธรรมมี 3 ชั้น คือ
- ศาลชั้นต้น
- ศาลอุทธรณ์
- ศาลฎีกา
2. ศาลทหาร
ศาลที่ใช้ตัดสินคดีของทหารซึ่งในประวัติศาสตร์ไทยมีศาลที่มีลักษณะของศาลทหารและการสงครามทั้งหลายมาแต่โบราณ เช่น กฎหมายลักษณะขบฎศึก จุลศักราช 796, ศาลกลาโหมอยู่ในสังกัดสมุหกลาโหมในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้น
พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ระบุถึงบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารไว้ 8 ประเภท คือ
- นายทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการ
- นายทหารชั้นสัญญาบัตรนอกประจำการ เฉพาะเมื่อกระทำผิดต่อคำสั่งหรือข้อบังคับตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร
- นายทหารประทวนและพลทหารกองประจำการหรือประจำการ หรือบุคคลที่รับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
- นักเรียนทหารตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
- ทหารกองเกินที่ถูกเข้ากองประจำการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้รับตัวไว้เพื่อให้เข้ารับราชการประจำอยู่ในหน่วยทหาร
- พลเรือนที่สังกัดอยู่ในราชการทหาร เมื่อกระทำผิดในหน้าที่ราชการทหารหรือกระทำผิดอย่างอื่นเฉพาะใน หรือบริเวณ อาคาร ที่ตั้งหน่วยทหาร ที่พักร้อน พักแรม เรือ อากาศยาน หรือยานพาหนะใด ๆ ในควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
- บุคคลซึ่งต้องขังหรืออยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารโดยชอบด้วยกฎหมาย
- เชลยศึกหรือชนชาติศัตรูซึ่งอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและจากมาตรา 6
ศาลทหารแบ่งออกเป็น 3 ชั้น
- ศาลทหารชั้นต้น
- ศาลทหารกลาง
- ศาลทหารสูงสุด
3. ศาลปกครอง
ศาลที่ก่อตั้งในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2540 ที่ผ่านมา ตามรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อตัดสิน “คดีปกครอง” ตามแบบอย่างที่ประเทศอื่น ๆ เช่น ฝรั่งเศส, สวีเดน, โปแลนด์, เยอรมนี เป็นต้น เพื่อทำหน้าที่พิจารณาและพิพากษาคดีปกครอง ซึ่งได้แก่ ข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ กับเอกชน รวมทั้งข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน
ศาลปกครองแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ
- ศาลปกครองชั้นต้น
- ศาลปกครองสูงสุด
4. ศาลรัฐธรรมนูญ
ก่อตั้งในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2540 เช่นเดียวกับศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่หลัก คือ การพิจารณาทบทวนโดยศาล วินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ พิจารณาการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย การยุบพรรคการเมือง และการตัดสินให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่ง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 1 คน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 8 คน ซึ่งมีการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ โดยคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคล ดังต่อไปนี้
- ผู้พิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา โดยได้รับเลือกในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ด้วยวิธีลงคะแนนลับ ทั้งหมด 3 คน
- ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จากวิธีลงคะแนนลับ ทั้งหมด 2 คน
- ผู้ทรงคุณวุฒิ สาขานิติศาสตร์ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์อย่างแท้จริง และได้รับเลือกตามมาตรา 206 ของรัฐธรรมนุญ ทั้งหมด 2 คน
- ผู้ทรงคุณวุฒิ สาขารัฐศาสตร์ หรือสาขาสังคมศาสตร์อื่นๆ โดยมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริง และได้รับเลือกตามมาตรา 206 ของรัฐธรรมนูญ ทั้งหมด 2 คน
ซึ่งการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญเป็นระบบไต่สวน ศาลมีอำนาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ ซึ่งแตกต่างจากวิธีพิจารณาที่ใช้ในคดีทั่วไปของศาลยุติธรรม
หวังว่ากฎหมายชวนรู้จะเป็นเกร็ดความรู้เล็ก ๆ ที่เป็นประโยชน์กับทุกคน หากต้องการปรึกษาเรื่องเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกฎหมาย และเกร็ดความรู้เรื่องกฏหมายสามารถติดต่อได้ที่ Line : @balanceniti และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารหรือสาระน่ารู้ต่าง ๆ ของเราได้ที่ Facebook : Balance Niti Law Firm
เครดิต: https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/elaw_parcy/ewt_dl_link.php?nid=2244