ใกล้สิ้นปีแบบนี้ได้เวลาเตรียมตัวยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีกันอีกแล้ว แต่ก่อนจะถึงเวลาควรศึกษาข้อมูลการลดหย่อนภาษีกันหน่อย เอาไว้ลดค่าภาษีที่จะต้องจ่ายให้กับกรมสรรพกร…เศรษฐกิจแบบนี้จ่ายน้อย ๆ ย่อมดีกว่าเนอะ แถมบางเคสอาจจะได้เงินภาษีฯ คืนด้วยนะ สำนักงานกฎหมาย Balanceniti จะชวนมาเช็กรายการลดหย่อนก่อนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2565 ไปด้วยกัน
ใครต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ?
คนโสด
- กรณีมีรายได้จากเงินเดือน ค่าจ้างเพียงอย่างเดียวเกินปีละ 120,000 บาทขึ้นไป
- กรณีมีรายได้อื่น ๆ เช่น รายได้จากการขายของ ค่าลิขสิทธิ์ เงินปันผล การเป็นฟรีแลนซ์ ฯลฯ เพียงอย่างเดียวเกินปีละ 60,000 บาทขึ้นไป
- กรณีมีรายได้จากเงินเดือน ค่าจ้าง และมีรายได้อื่น ๆ รวมกันเกินปีละ 60,000 บาทขึ้นไป
คนมีคู่
- กรณีมีรายได้จากเงินเดือน ค่าจ้างเพียงอย่างเดียวเกินปีละ 220,000 บาทขึ้นไป
- กรณีมีรายได้อื่น ๆ เช่น รายได้จากการขายของ ค่าลิขสิทธิ์ เงินปันผล การเป็นฟรีแลนซ์ ฯลฯ เพียงอย่างเดียวเกินปีละ 120,000 บาทขึ้นไป
- กรณีมีรายได้จากเงินเดือน ค่าจ้าง และมีรายได้อื่น ๆ รวมกันเกินปีละ 120,000 บาทขึ้นไป
รายการลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
1. ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล คนละ 60,000 บาท
2. ค่าลดหย่อนจากคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ คนละ 60,000 บาท
- สามี – ภรรยาต้องจดทะเบียนสมรส
- คู่สมรสต้องไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่เลือกนำมาคำนวณภาษีพร้อมกัน
3. ค่าลดหย่อนบุตร คนละ 30,000 บาท (ไม่จำกัดจำนวนบุตร)
- บุตรตามกฎหมาย ลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวนบุตร
- บุตรบุญธรรม ลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน
- บุตรมีอายุอยู่ระหว่างแรกเกิดจนถึง 20 ปี ในปีภาษีนั้น
- ถ้าบุตรมีอายุระหว่าง 21 – 25 ปี ต้องกำลังศึกษาในระดับอนุปริญญา (ปวส.) ขึ้นไป
- ถ้าบุตรมีอายุ 25 ปีขึ้นไป ต้องเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
4. ค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป คนละ 30,000 บาท (เมื่อรวมกับค่าลดหย่อนบุตรอีก 30,000 บาท เท่ากับลดหย่อนบุตรคนที่ 2 รวม 60,000 บาท)
- บุตรคนที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย คลอดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป
5. ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ค่าใช้จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 60,000 บาท/การคลอดบุตร 1 ครั้ง
- ค่าใช้จ่ายฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ช่วงวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2565
- กรณีคลอดบุตรแฝด สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 60,000 บาท เพราะเป็นการตั้งครรภ์ครั้งเดียว
6. ค่าลดหย่อนพ่อแม่ คนละ 30,000 บาท สูงสุด 4 คน ไม่เกิน 120,000 บาท
- บิดา-มารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี
- บิดา-มารดาออกหนังสือรับรองการเลี้ยงดู (ลย.03) ให้กับบุตร
- บุตรสามารถใช้สิทธิ์ได้เพียงคนเดียวเท่านั้น เช่น หากลูกคนโตใช้ไปแล้ว ลูกคนอื่น ๆ ก็ไม่สามารถใช้สิทธิ์นี้ได้อีก
7. ค่าลดหย่อนอุปการะคนพิการหรือคนทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท
- ต้องเป็นผู้ที่ดูแลคนพิการตามกฎหมาย
- ผู้พิการต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมาย
- หากผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นบิดา-มารดา-บุตร-คู่สมรส สามารถใช้สิทธิ์ควบคู่กันได้
รายการลดหย่อนภาษีกลุ่มค่าประกัน การออม และการลงทุน
1. ค่าลดหย่อนประกันสังคม
- มาตรา 33 ลดหย่อนได้สูงสุด 6,300 บาท
- มาตรา 39 ลดหย่อนได้สูงสุด 3,585 บาท
- มาตรา 40 ลดหย่อนด้ไม่เกิน 644 – 2,760 บาท
มูลค่าลดหย่อนมีการปรับเปลี่ยนจากปีอื่น ๆ เนื่องจากมีการปรับลดเงินสมทบประกันสังคมในเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2565 และตุลาคม – ธันวาคม 2565
2. ค่าลดหย่อนประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือเงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิต ค่าใช้จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
- ต้องเป็นประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
- มีเงินปันผลหรือเบี้ยคืนรายปี ไม่เกิน 20% ของเบี้ยสะสม
- ต้องเป็นกรมธรรม์ที่ซื้อจากบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการในไทย
เงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิต
- ต้องเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิต (ปัจจุบันมี 2 ธนาคาร คือ ออมสิน และ ธ.ก.ส.)
- ฝากเงินตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
- ได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนทุกปี ต้องไม่เกิน 20% ของเงินฝากรายปี
- มีหลักฐานจากธนาคารผู้รับฝากเงิน
- หักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่ฝากเงินจริง แต่รวมกับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิต ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
3. ค่าลดหย่อนประกันชีวิตคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ค่าใช้จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
4. ค่าลดหย่อนประกันสุขภาพตัวเอง ไม่เกิน 25,000 บาท/ปี รวมเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
5. ค่าลดหย่อนประกันสุขภาพพ่อแม่ ค่าใช้จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท
- ต้องเป็นบุตรตามกฎหมายเท่านั้นบิดา-มารดาต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาทขึ้นไป
- บุตรสามารถใช้สิทธิ์ได้หลายคนโดยหารเฉลี่ยเท่า ๆ กัน
6. ค่าลดหย่อนประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อน 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- เป็นประกันที่มีระยะเวลาเอาประกัน 10 ปีขึ้นไป
- จ่ายผลตอบแทนให้ผู้เอาประกันตั้งแต่อายุ 55 ปี ต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่านั้น
- เมื่อรวมค่าเบี้ยประกันที่จ่ายให้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสงเคราะห์, กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF), หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
7. ค่าลดหย่อนภาษีกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF หรือ Super Savings Fund) ลดหย่อนสูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- จำนวนเงินที่ซื้อกองทุน SSF เมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท/ปี
8. ค่าลดหย่อนภาษีกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF หรือ Retirement Mutual Fund)
ลดหย่อนสูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- เมื่อซื้อ RMF รวมกับกองทุนรวม SSF + กบข. + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + กองทุนครูโรงเรียนเอกชน + ประกันชีวิตแบบบำนาญ + กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
9. ค่าลดหย่อนภาษีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท
10. ค่าลดหย่อนภาษีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้
- เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, กบข., RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
12. ค่าลดหย่อนภาษีกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 13,200 บาท
- เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, กบข., RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนครูโรงเรียนเอกชน ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
13. ลดหย่อนภาษี เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- สำหรับบุคคลธรรมดาที่ลงหุ้น หรือลงทุน (ทั้งกรณีจัดตั้งและเพิ่มทุน) ในธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) โดยธุรกิจนั้นต้องจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทไม่ประสงค์แบ่งปันกำไร
- ผู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีต้องถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนจนกว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นเลิกกิจการ เว้นแต่กรณีที่กำหนด
รายการลดหย่อนภาษี กลุ่มอสังหาริมทรัพย์
- ค่าลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยบ้าน ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- เป็นดอกเบี้ยจากเงินกู้การเช่าซื้อบ้าน คอนโด หรือที่อยู่อาศัย
- หากมีการกู้สำหรับที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง สามารถใช้ลดหย่อนรวมกันได้ทุกแห่ง แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- กรณีกู้ร่วมกันหลายคน ก็ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่า ๆ กัน โดยไม่สนใจว่าผู้กู้ร่วมมีรายได้ที่จะเสียภาษีหรือไม่ และรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
รายการลดหย่อนภาษี กลุ่มเงินบริจาค
กลุ่มเงินบริจาคที่ใช้ลดหย่อนจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินบริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้
1. เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา
2. เงินบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของรัฐ
3. เงินบริจาคสนับสนุนการกีฬา
4. เงินบริจาคเพื่อการพัฒนาสังคม
5. เงินบริจาคให้แก่มูลนิธิด้านสาธารณสุข
- มูลนิธิโรคมะเร็ง โรงพยาบาลศิริราช
- มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี
- มูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า
- มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- มูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
- มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กองทัพเรือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
- มูลนิธิชัยพัฒนา
- มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
กลุ่มเงินบริจาคที่ใช้ลดหย่อนตามจำนวนเงินบริจาคจริง
1. เงินบริจาคให้กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้
2. เงินบริจาคทั่วไป สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้
3. เงินบริจาคให้พรรคการเมือง สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท
รายการลดหย่อนภาษี ช้อปดีมีคืน
- สามารถลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
- สินค้าจากร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) เช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารที่จดทะเบียน VAT หรือร้านค้าทั่วไปที่ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปได้เท่านั้น
ก่อนยื่นภาษีปี 2565 อย่าลืมเช็กลิสต์รายการลดหย่อนภาษีและเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน เพื่อความรวดเร็วสามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ https://www.rd.go.th/272.html หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อกฎหมาย หรือต้องการผู้ตรวจสอบเอกสารและดำเนินการส่งเอกสารภาษีของนิติบุคคลสามารถติดต่อได้ที่ Line : @balanceniti และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารหรือสาระน่ารู้ต่าง ๆ ของเราได้ที่ Facebook : Balance Niti Law Firm