ปัญหาเพื่อนบ้านกับข้อกฎหมายต่าง ๆ

ปัญหาเพื่อนบ้านกับข้อกฎหมายต่าง ๆ
เมื่อการซื้อบ้านในปัจจุบันไม่ได้เป็นเรื่องของตัวบ้านเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบของที่อยู่อาศัย และปัญหาหลัก ๆ ที่ต้องพบเจอกันเกือบทุกบ้านคือ “ ปัญหาเพื่อนบ้าน “ นั่นเอง ปัญหาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย แต่การจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถที่จะทำได้ด้วยตัวเอง จึงต้องมีการนำในส่วนของข้อกฎหมายต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้หมดไปด้วยความถูกต้องและเป็นกลางมากที่สุด บทความนี้จะนำปัญหาเพื่อนบ้านที่ต้องพบเจอในปัจจุบันและข้อกฎหมายที่ใช้ในการแก้ไขปัญหามาให้ทุกท่านได้ศึกษาและเรียนรู้  จะมีอะไรบ้างไปดูกัน
  • ปัญหาต้นไม้ / กิ่งไม้ รุกล้ำที่ดิน

ปัญหาเพื่อนบ้านกับข้อกฎหมายต่าง ๆ

เจ้าของที่ดินได้กรรมสิทธิ์รวมถึงใต้ดินและเหนือพื้นดิน หากพบกิ่งไม้ หรือรากไม้จากเพื่อนบ้าน รุกล้ำเข้ามาในที่ดิน สามารถตัดทิ้งได้ แต่จะต้องแจ้งต่อเจ้าของต้นไม้ก่อน หากแจ้งเบื้องต้นแล้ว ไม่ได้รับการแก้ไข สามารถดำเนินการตัดออกได้เอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1347 เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1846/2500 ในทางแพ่ง ถ้าจำเลยได้บอกกล่าวโจทก์เสียก่อนและให้เวลาพอสมควรแล้ว จำเลยก็อาจตัดกิ่งไม้ของโจทก์ที่ยื่นล้ำที่ของจำเลยเข้าไปนั้นได้ ส่วนในทางอาญา ต้องพิจารณาเจตนาของจำเลยเป็นเรื่องๆไป ถ้าตามพฤติการณ์ที่ปรากฏเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาทำผิดทางอาญา แม้จำเลยไม่ได้บอกกล่าวโจทก์เสียก่อน จำเลยก็ตัดกิ่งไม้ที่ยื่นรุกล้ำเข้ามาในที่ของตนได้ เพราะเป็นเรื่องที่จำเลยเพียงแต่กระทำการป้องกันกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนตามที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้โดยทั่วๆ ไป หากแต่จำเลยมิได้ปฏิบัติการให้ครบถ้วนตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1347 เท่านั้น
  • จอดรถกีดขวางทางเข้า – ออก

ปัญหาเพื่อนบ้านกับข้อกฎหมายต่าง ๆ

ผู้ขับขี่รถยนต์ไม่มีสิทธิที่จะจอดรถขวางทางเข้า-ออกบ้านผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เอกชน หรือ ทางสาธารณะ เพราะถือเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 55 (6) ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถ นอกจากนี้ ยังเป็นความผิดฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 397 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยผู้ที่ได้รับความเสียหายจากกรณีนี้ สามารถร้องทุกข์ดำเนินคดีได้ รวมทั้งสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งได้ ตามมาตรา 420 และถ้าเป็นที่สาธารณะยังมีโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก เจ้าหน้าที่สามารถออกใบสั่ง ยกรถได้ ทั้งนี้ หากความเสียหายหรือทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ประชาชนมีสิทธิแจ้งความร้องทุกข์ด้วย ส่วนกรณีที่มีเหตุจําเป็นฉุกเฉินไม่สามารถขอความขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐได้ สามารถเคลื่อนย้ายรถด้วยกําลังได้ เพราะเป็นข้อยกเว้นของนิรโทษกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 450
  • ปัญหาสัตว์เลี้ยงของเพื่อนบ้าน

ปัญหาเพื่อนบ้านกับข้อกฎหมายต่าง ๆ

มาตรา 64 บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความ รับผิดในทางอาญาไม่ได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่า ตามสภาพและพฤติการณ์ ผู้กระทำความผิดอาจจะไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็น ความผิด ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาล เชื่อว่า ผู้กระทำไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้นศาลจะลงโทษน้อย กว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ การเลี้ยงสัตว์ ปัญหาที่ก่อความรำคาญ ได้แก่ เสียง กลิ่น และสัตว์ที่เป็นอันตรายอันติดมากับสัตว์เลี้ยงแล้วแพร่กระจายไปสู่พื้นที่รอบข้างได้ อาทิ เห็บ หมัด  เป็นต้น  สัตว์เลี้ยงแต่ละชนิดอาจก่อปัญหาเดือดร้อนรำคาญไปสู่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ใกล้เคียงได้ แต่ควรพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป สุนัข บางตัวไม่ส่งเสียงก่อความรำคาญ สุนัขบางตัวทำเช่นนั้น แมวบางตัวหากเลี้ยงแบบระบบเปิดอาจขับถ่ายก่อความเดือดร้อนรำคาญ บางตัวไม่เป็นเช่นนั้น หรือหากเลี้ยงสุกรแต่สุกรไม่ส่งเสียงให้เดือดร้อนหรือรำคาญ แต่อาจสร้างกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ไปสู่บริเวณรอบข้าง การแก้ปัญหาจึงเป็นไปตามผลที่กระทบ โดยมีตั้งแต่ให้กำจัดสิ่งปฏิกูลเน่าเหม็นและคอยดูแลความสะอาด ไปจนถึงย้ายพื้นเลี้ยงดู เพื่อไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์อีกต่อไป
  • การส่งเสียงดัง สร้างความรำคาญ
กรณีที่เพื่อนบ้านเปิดเพลง หรือมีการเล่นดนตรี และสังสรรค์เสียงดังเป็นที่รบกวนนั้น ถือว่าเป็นการส่งเสียง ทำให้เกิดเสียง หรือกระทำการอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 370 มีโทษปรับ 1,000 บาท โดยในกรณีที่เสียงดังเกินค่ามาตรฐานคือ 70 เดซิเบล ผู้เสียหายสามารถไปร้องกับ กรมควบคุมมลพิษทางเสียง ที่สำนักงานเขตหรืออำเภอ จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาจัดการแก้ไขปัญหา ซึ่งหากเพื่อนบ้านยังคงดื้อดึงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ ก็จะถูกดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ แนะนำให้ผู้เสียหายอย่าเจรจากับเพื่อนบ้านด้วยตนเอง หากอาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร ควรติดต่อนิติบุคคลมาเจรจาให้ หรือติดต่อผ่านผู้ใหญ่บ้านให้มาเป็นคนกลางเพื่อลดความขัดแย้งที่อาจบานปลายจากการเผชิญหน้า อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการต่อเติมรั้วบ้านได้ที่  อยากต่อเติมรั้วบ้านให้สูงกว่าเดิมต้องขออนุญาตเพื่อนบ้านหรือไม่
  • การต่อเติมบ้าน รุกล้ำมาที่บ้านเรา

ปัญหาเพื่อนบ้านกับข้อกฎหมายต่าง ๆ

ในทางกฎหมายเราเรียกว่า “แดนแห่งกรรมสิทธิ์” ซึ่งการครอบครองประโยชน์ในที่ดินนั้นๆ จะกินพื้นที่เหนือพื้นดินและใต้พื้นดินทั้งหมด ดังนั้นเวลาเราจะก่อสร้าง ต่อเติม หรือทำอะไรก็แล้วแต่ ก็ไม่ควรล่วงล้ำเข้าไปในขอบเขตที่ดินที่อยู่ติดกัน หากเพื่อนบ้านหลังอยู่ติดกันไม่อนุญาต หรือต่อเติมไม่เป็นไปตามที่ตกลงกับเจ้าหน้าที่หรือเพื่อนบ้านไว้ เจ้าหน้าที่สามารถสั่งให้เจ้าของบ้านระงับการต่อเติมหรือก่อสร้างได้ เพื่อแก้ไขการต่อเติมให้ถูกต้อง แต่หากยังไม่ทำตามจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท (หรือทั้งจำทั้งปรับ) และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 30,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง (ตามมาตรา 67 พรบ.ควบคุมอาคาร) อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการต่อเติมบ้านได้ที่  ต่อเติมบ้านอย่างถูกกฎหมาย ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนับว่าเป็นปัญหาที่พบเจอได้จริงในชีวิตประจำวัน การนำข้อกฎหมายเข้ามาช่วยในการแก้ไขจะช่วยให้ทุกท่านคลายความกังวล และได้แก้ปัญหาอย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้เรื่องที่เกิดลุกลามใหญ่โตไปกว่าเดิม อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับแดนกรรมสิทธิ์ได้ที่  แดนกรรมสิทธิ์คืออะไร ? กฏหมายเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และเรานั้นสามารถพบเจอได้ทั่วไปในการดำเนินชีวิตประจำวัน การศึกษากฏหมายเป็นเรื่องที่สำคัญ และไม่ควรมองข้าม สำหรับท่านใดที่ต้องการปรึกษาปัญหาทางด้านกฏหมายสามารถสอบถามข้อมูลมาได้ที่ Line@bnlaw และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารหรือสาระน่ารู้ต่าง ๆ ของเราได้ที่ Facebook B.N. Law