ขั้นตอนการจดทะเบียนธุรกิจ

ในปัจจุบันมีคนทำธุรกิจของตัวเองกันมากขึ้น แม้ว่าในเชิงกฏหมายไม่ได้ระบุชัดเจนว่าต้องจดทะเบียนบริษัทเมื่อไหร่ แต่เมื่อธุรกิจมีการเติบโตและมีรายได้เพิ่มขึ้นผู้ประกอบการควรดำเนินการให้ถูกต้องตามกฏหมายเนื่องจากเกี่ยวข้องการกับเสียภาษีซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยต้นทุนในการทำธุรกิจ

จดทะเบียนธุรกิจมีกี่ประเภท?

การจดทะเบียนธุรกิจอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. จดทะเบียนพาณิชย์ (บุคคลธรรมดา)

การจดทะเบียนธุรกิจของกิจการที่มีผู้ประกอบการเป็นเจ้าของเพียงคนเดียว เหมาะกับกิจการขนาดเล็กที่ขายสินค้าหรือบริการง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก มูลค่าของกิจการไม่สูงมาก หรือเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ 

      2. จดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท (นิติบุคคล)

การจดทะเบียนธุรกิจของกิจการที่มีผู้ประกอบการตั้งแต่ 2-3 คนขึ้นไป เป็นเจ้าของในการลงทุนทำกิจการร่วมกัน การจดทะเบียนนิติบุคคลประเภทนี้สามารถทำได้ 3 แบบ ดังนี้

  • ห้างหุ้นส่วนสามัญ –  เป็นกิจการที่ต้องมีหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป อาจแบ่งได้เป็น “ห้างหุ้นส่วนสามัญ” และ “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าผู้เป็นหุ้นส่วนจะได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่ โดยหุ้นส่วนทุกคนมีสิทธิจัดการกับกิจการและแบ่งปันกำไรจากกิจการได้ โดยผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดชอบในหนี้สินของกิจการอย่าง “ไม่จำกัดความรับผิด” 
  • ห้างหุ้นส่วนจำกัด – เป็นกิจการที่ต้องมีหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เข้าทำกิจการร่วมกัน และต้องทำการจดทะเบียนนิติบุคคล โดยความรับผิดชอบของผู้เป็นหุ้นส่วน แบ่งเป็นแบบ “จำกัดความรับผิด” และ “ไม่จำกัดความรับผิด” ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนประเภท “จำกัดความรับผิด” จะไม่มีสิทธิในตัดสินใจในกิจการได้ แต่มีสิทธิที่จะสอบถามการดำเนินงานของกิจการได้ ในส่วนของผู้เป็นหุ้นส่วนประเภท “ไม่จำกัดความรับผิด” จะมีสิทธิในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในกิจการได้ทั้งหมด
  • บริษัทจำกัด – เป็นกิจการที่มีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล โดยผู้ถือหุ้นทุกคนจะรับผิดชอบในหนี้สินของกิจการอย่าง “จำกัด” กล่าวคือ ผู้ถือหุ้นจะต้องรับผิดชอบเป็นจำนวนเท่ากับค่าหุ้นที่ยังชำระไม่ครบถ้วนเต็มมูลค่าหุ้นที่จดทะเบียนไว้ หากชำระครบแล้ว ผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้สินของกิจการอีก โดยกิจการประเภทนี้จะมีการบริหารงานในรูปแบบของคณะกรรมการบริษัทเพื่อทำให้กิจการเกิดความน่าเชื่อถือ

ขั้นตอนการจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทต้องทำอย่างไรบ้าง?

1. ตรวจและจองชื่อบริษัท:

      กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เปิดบริการให้เราสามารถเข้าไปตรวจชื่อและจองชื่อบริษัทผ่านทาง internet ได้ทางลิงค์ ตรวจและจองชื่อบริษัท  โดยเราสามารถจองชื่อได้ถึง 3 ชื่อ แต่มีเงื่อนไขว่า ชื่อที่จองจะต้องไม่ซ้ำหรือใกล้เคียงกับบริษัทที่เคยจดทะเบียนไปแล้ว

2. จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ:

     บริษัทต้องจัดเตรียมหนังสือบริคณห์สนธิ (ข้อมูลสำคัญการจัดตั้งบริษัท) ไปจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายใน 30 วัน นับจากวันที่นายทะเบียนรับรองชื่อบริษัท ทั้งนี้ ข้อมูลในหนังสือบริคณห์สนธิ ประกอบด้วย  

  •       ชื่อบริษัท (ตามที่ได้จองชื่อไว้)
    •       ที่ตั้งสํานักงานใหญ่ / สาขา
    •       วัตถุประสงค์บริษัท
    •       ทุนจดทะเบียน
    •       ชื่อ ที่อยู่ อายุ สัญชาติ ของพยาน 2 คน
    •       ข้อบังคับ (ถ้ามี)
    •       จํานวนทุน (ค่าหุ้น) ที่เรียกชําระแล้ว อย่างน้อยร้อยละ 25% ของทุนจดทะเบียน
    •       ชื่อ ที่อยู่ อายุของกรรมการ
    •       รายชื่อหรือจํานวนกรรมการที่มีอํานาจลงชื่อแทนบริษัท (อํานาจกรรมการ)
    •       ชื่อ เลขทะเบียนผู้สอบบัญชีรับอนุญาตพร้อมค่าตอบแทน
    •       ชื่อ ที่อยู่ สัญชาติ และจํานวนหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละคน

3. ยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัท 

     หลังจากจองชื่อและจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิแล้ว นายทะเบียนที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะดำเนินการตรวจเอกสาร หลังจากนั้น ให้เราเตรียมไปจดทะเบียนบริษัทได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือจดทะเบียนบริษัทผ่านระบบออนไลน์ DBD e-Registration โดยเตรียมเอกสาร ดังนี้

  •       แบบจองชื่อนิติบุคคล
  •       สําเนาบัตรประจําตัวของผู้เริ่มก่อการและกรรมการทุกคน
  •       สําเนาหลักฐานการรับชําระค่าหุ้นที่บริษัทออกให้แก่ผู้ถือหุ้น
  •       แผนที่แสดงที่ตั้งสํานักงานใหญ่ โดยสังเขป

      หมายเหตุ: ผู้ขอจดทะเบียนจะต้องลงนามรับรองสำเนาถูกต้องในเอกสารทุกฉบับ ยกเว้นสำเนาบัตรประชาชน ที่ต้องให้เจ้าของบัตรลงนามรับรองเอง

4. ชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัท

  • ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ 500 บาท
  • ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนบริษัท 5,000 บาท
  • ค่าอากรแสตมป์ 210 บาท
  • ค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือรับรอง ฉบับละ 200 บาท
  • ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน ฉบับละ 100 บาท
  • ค่ารับรองสำเนาเอกสาร หน้าละ 50 บาท

5. รับใบสำคัญและหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท

หากเอกสารถูกต้องทั้งหมดแล้ว นายทะเบียนรับจดทะเบียนบริษัทและมอบหนังสือรับรอง ซึ่งถือว่าบริษัทได้ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีสิทธิและหน้าที่ต่างๆ โดยสมบูรณ์ตามที่บริษัทพึงมีทุกประการ

การจดทะเบียนบริษัทสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการจัดเตรียมเอกสารให้ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งอาจจะต้องใช้ความละเอียดและรอบคอบในการตรวจสอบก่อนทำการยื่นให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อทำการตรวจสอบและนำเข้าระบบ หากต้องการทนายที่ปรึกษากฏหมายหรือมีข้อสงสัยหรือหรือการดำเนินการเกี่ยวกับข้อกฎหมายต่าง ๆ ติดต่อได้ที่ Line : @balanceniti และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารหรือสาระน่ารู้ต่าง ๆ ของเราได้ที่ Facebook : Balance Niti Law Firm

เครดิต:

https://balanceniti.com/การจดทะเบียนบริษัท-ต้อง/

https://peakaccount.com/blog/จดทะเบียนธุรกิจ/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *